จาร์เค็นดึงกูรู บิสซิเนสโมเดล “คอนซูรัส” ปรับใช้ธุรกิจไทย


จาร์เค็นดึงกูรู บิสซิเนสโมเดล “คอนซูรัส ปรับใช้ธุรกิจไทย แย้มครึ่งปีหลังรุกตลาดต่างจังหวัด และกลุ่มประเทศในเออีซี หวังรับรู้แบรนด์ จาร์เค็นฯ ปลื้ม หลังขยายธุรกิจดีไซน์ ผลตอบรับดี ตอบโจทย์ลูกค้ามาก ส่งผลรายได้ปี 57 โต 425 ล้านบาท ล่าสุดนำโนฮาว จาก คอนซูรัส ประเทศสิงคโปร์
ปรับใช้กับธุรกิจในประเทศไทย เสริมความแกร่ง แย้มครึ่งหลังปี 58 เล็งขยายฐานตลาดต่างจังหวัด-กลุ่มประเทศเออีซี เพิ่ม หวังสร้างการรับรู้แบรนด์ คาดหลังจากนี้ 3-5 ปี ยอดขายโต 5% จากปี 58 ที่ตั้งเป้า 480 ล้านบาท
ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จาร์เค็น จำกัด บริษัทดีไซน์ชั้นนำของไทย เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดที่ปรึกษา และออกแบบในประเทศไทย รูปแบบเดียวกับจาร์เค็นว่า “มูลค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและออกแบบในไทยของภาครัฐและเอกชนรวมกันประมาณ 60,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นเอกชน 15% ของมูลค่าตลาดรวมในขณะที่มูลค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการอย่างเดียวมี ประมาณ 10% ของ 60,000 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นทุกปีตาม GDP และจำนวนโครงการที่มากขึ้นในแต่ละปี ภายหลังจากที่บริษัทฯได้เดินหน้าสู่บริษัทดีไซน์อย่าง        เต็มตัว (Multi disciplinary design firm) เมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา โดยดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทดีไซน์หนึ่งเดียวที่ให้บริการตั้งแต่งานออกแบบสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมภายใน และตกแต่งก่อสร้าง รวมถึงงานกราฟฟิกดีไซน์ ที่ปรึกษาการพัฒนาแบรนด์สินค้า และทำผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และแฟชั่น  ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าไม่ว่าจะเป็นด้านค้าปลีก (Retail) หรือด้านการพาณิชย์ (Commercial) ที่เข้ามาใช้บริการ เพราะเราสามารถคิดให้ครบตอบโจทย์ทุกมุมมองของการพัฒนาธุรกิจ ทำให้ประสิทธิภาพของงานที่ออกมากลายเป็นภาพเดียวกัน ลดความผิดพลาดของงาน และลดเวลาให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้เร็วขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการตอบโจทย์ความต้องการ และรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคสังคมนี้ได้อย่าง 360º ส่งผลให้ปีที่ผ่านมามีรายได้เติบโตประมาณ 425 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส1/ 2558 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการขยายงานบริการที่ปรึกษาและพัฒนาองค์กรด้วยแนวความคิดเชิงออกแบบ หรือ concept 'Design Thinking' โดยเป็นการนำต้นแบบธุรกิจ (Business Model) มาจากบริษัท คอนซูรัส ประเทศสิงคโปร์ และมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจะเข้าไปศึกษาธุรกิจ การจัดการ และการดำเนินการในเชิงลึกขององค์กร และช่วยแก้ไขปัญหาภายในองค์กร
เพื่อปฏิรูปและเสริมให้โครงสร้างการบริหารและการทำงานของทั้งองค์กร ได้เดินตามวัตถุประสงค์ขององค์กรอย่างแข็งแกร่ง และเติบโตจากภายในสู่ภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
เพื่อการพัฒนาให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน”  ดร.กุลเดช กล่าว และเพิ่มเติมถึงที่มาของความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า 
หลักๆ มาจากแนวคิดของทั้ง 2 องค์กรที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของการผลักดันและพัฒนาองค์กรไทยให้เติบโตในธุรกิจโลกอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง โดยการนำเอาวิธีคิดในการออกแบบ (Design Thinking) มาบริหารจัดการ เพราะเรามองว่าธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ แผนการดำเนินธุรกิจ ภาพลักษณ์ บุคลากร ตลอดจนการสื่อสาร/การประชาสัมพันธ์ล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และควรดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเรามุ่งหวังให้องค์กรเหล่านี้กลายเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้ภาพรวมธุรกิจของไทยดีขึ้น สำหรับ JARKEN ที่เราเติบโตจากธุรกิจดีไซน์ สร้างสรรค์งานออกแบบมากกว่า 12 ปี แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เหมือนใคร คือการที่เราคิดอย่างนักการตลาดมาโดยตลอด  และไม่ได้มองว่าเป็นบริการเพื่อความสวยงาม แต่เรามองถึงการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้จากกระบวนการที่บริษัทฯ ต้องเข้าไปศึกษาธุรกิจของลูกค้าในเชิงลึก การทำ Research เพื่อนำเสนอรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม สามารถส่งผลให้ธุรกิจของลูกค้า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และสามารถของการให้บริการหรือการผลิตที่ทั่วถึง และตรงตามกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ตัดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น หรือซ้ำซ้อนออกไป ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก เพิ่มโอกาสและการเติบโตของธุรกิจใหม่ๆ และมีความชัดเจนในการทำกิจกรรมทางการตลาด และภาพลักษณ์ที่ชัดเจนต่อผู้บริโภคหรือคู่ค้า
                “Design Thinking” นี้ จะไม่เพียงช่วยให้คำปรึกษาและช่วยพัฒนาองค์กรในด้านการบริการ การผลิต เท่านั้น แต่รวมถึงทุกส่วนขององค์กร เช่น การบริหารทางการเงิน การบริหารบุคลากรการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การตลาด (เช่นงานกราฟฟิกต่างๆ กิจกรรมทางการตลาดและอื่นๆ แบบองค์รวม จึงมีความแตกต่างจากงานบริการให้คำปรึกษาด้านการตลาดทั่วไปอย่างชัดเจน
ดร.กุลเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า “เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวยังเป็นธุรกิจใหม่  คาดว่ารายได้หลักหลังจากนี้จะเติบโตขึ้นอีก 5% และคาดว่าจะสูงขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งในทางกลับกัน บริษัทฯ มองว่าลูกค้าที่มาใช้บริการนี้จะได้รับผลดีในหลายๆ ด้านแล้วจะช่วยส่งผลดีให้กลุ่มลูกค้าของบริษัทฯมากกว่า โดยสัดส่วนลูกค้า 80%           เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสัดส่วน 20% เป็นลูกค้าธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจเพื่อการพาณิชย์ โดยแบ่งเป็น  5 กลุ่มหลัก คือ
1.ธุรกิจก่อสร้าง (Construction)
2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real estate and   property management)
3.กลุ่มธุรกิจด้านการเงินและธนาคาร (Banking)
4.อุตสาหกรรมผลิต (Manufacturing)
5.การบริการและการจัดการท่องเที่ยว (Hospitality) 
ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงของปัญหาภายในองค์กรค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของระบบโครงสร้างการทำงาน ความแตกต่างของบุคลากร ศักยภาพของการให้บริการหรือการผลิต เพื่อผลักดันให้องค์กรเดินไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 58  นอกจากบริษัท JARKEN มีแผนการขยายตลาดในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นแล้ว ยังรวมไปถึงการขยายไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเปิดตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการศึกษาตลาด เร็ว ๆ นี้ บริษัทจะเข้าไปร่วมในงาน “Myanmar Build and Decor 2015”  ซึ่งเป็นงานที่จัดให้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจดังกล่าว ได้มีโอกาสเปิดตลาดไปยังกลุ่มนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม รีสอร์ท และที่พักอาศัย ได้พบปะ พูดคุย และแนะนำการให้บริการในพม่า ในเดือนตุลาคม 2558 นี้

โดยในปี 2558 นี้บริษัทได้ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ไว้ที่ประมาณ 480 ล้านบาท หรือโตขึ้นประมาณ 15% จากปี 2557 ที่ผ่านมา